Google แนะนำ 8 เคล็ดลับรู้เท่าทันกลโกงเกี่ยวกับโควิด-19

จากโพสต์ที่แล้ว ข้อมูลจาก Google ได้บอกเล่ากลโกงเกี่ยวกับโควิด-19 ที่พบได้บ่อยในโลกออนไลน์ไปแล้ว โพสต์นี้จะมาแนะนำเคล็ดลับรู้เท่าทันกลโกงเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ Google ได้สรุปไว้ให้พวกเราได้ศึกษาและนำไปบอกต่อๆ กันครับ

โควิด-19

1. ทำอย่างไรจึงจะไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไซเบอร์

มิจฉาชีพไซเบอร์มักจะเลือกฉวยโอกาสในช่วงที่มีกระแสการสื่อสารเกี่ยวกับโควิด-19 อย่างแพร่หลาย โดยการปลอมแปลงข้อความให้ดูเหมือนว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรอง โดยนอกจากการส่งอีเมลแล้ว มิจฉาชีพไซเบอร์อาจจะส่งข้อความผ่าน SMS โทรเข้ามือถือของคุณโดยใช้ระบบอัตโนมัติ และส่งลิงก์เว็บไซต์ประสงค์ร้ายมาถึงคุณอีกด้วย

2. ตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้โดยตรง

มิจฉาชีพไซเบอร์มักจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เป็นที่รู้จักกันดีและเชื่อถือได้ เราขอแนะนำให้คุณตรวจสอบข้อมูลอัปเดตล่าสุดเกี่ยวกับโควิด-19 จากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น กระทรวงสาธารณสุข หรือกรมควบคุมโรค https://covid19.ddc.moph.go.th/

3. เพิ่มความระมัดระวังก่อนที่จะส่งข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลด้านการเงินใด ๆ กรุณาหยุดตรวจสอบและประเมินความน่าเชื่อถือก่อนที่จะแชร์ข้อมูล

หากอยู่ ๆ คุณก็ได้รับคำขอให้ส่งข้อมูล เราขอแนะนำให้คุณใช้เวลาในการไตร่ตรองหาที่มาที่ไปของข้อความดังกล่าวอย่างถี่ถ้วน มิจฉาชีพไซเบอร์มักจะขอให้คุณแชร์ข้อมูลมากผิดปกติ อาทิ ข้อมูลในการเข้าสู่ระบบ ข้อมูลบัญชีธนาคาร และที่อยู่ที่กรอกไว้ตอนเปิดบัญชี นอกจากนั้น กลุ่มคนพวกนี้ยังอาจจะขอให้มีการชำระเงินผ่านการโอนจากบัญชีธนาคาร หรือเงินเสมือนจริงในโลกดิจิทัล

4. บริจาคเงินผ่านองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่าง ๆ โดยตรง

มิจฉาชีพบางกลุ่มจะหาประโยชน์จากความมีน้ำใจของคนไทยด้วยการเปิดรับบริจาคเงินสมทบทุนบรรเทาทุกข์จากโควิด-19 หรือไม่ก็แอบอ้างเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร หากคุณต้องการให้มั่นใจว่าเงินที่คุณร่วมบริจาคส่งไปถึงองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรอย่างแท้จริง คุณสามารถบริจาคผ่านเว็บไซต์ขององค์กรเหล่านั้นได้โดยตรง แทนที่จะคลิกบริจาคจากลิงก์ที่ส่งมาหาคุณ

5. เช็คลิงก์และที่อยู่อีเมลจนกว่าจะมั่นใจก่อนที่คุณจะคลิก

ลิงก์ปลอมมักจะพยายามเลียนแบบลิงก์ของเว็บไซต์ทางการโดยเพิ่มคำหรือตัวอักษรบางตัวเข้าไป ถ้าลิงก์นั้นระบุข้อความว่า “คลิกที่นี่” ลองเลื่อนเมาส์ไปบนลิงก์ดังกล่าว หรือกดค้างไว้บนลิงก์เพื่อตรวจสอบว่า URL ของลิงก์นั้นมีความผิดปกติหรือไม่ แต่ระวังอย่าคลิกไปที่ลิงก์นั้นจนกว่าจะตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ การสะกดผิด หรือตัวอักษรและตัวเลขแบบสุ่มที่ปรากฏใน URL หรือที่อยู่อีเมลอาจจะพอช่วยระบุได้ว่าลิงก์ดังกล่าวเป็นลิงก์ปลอมที่ไม่น่าไว้ใจ

6. ตรวจสอบก่อนว่ามีการรายงานภัยแล้วหรือไม่

หากมีมิจฉาชีพส่งข้อความต้มตุ๋นมาให้คุณ มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะส่งไปให้ผู้อื่นเช่นกัน เราขอแนะนำให้คุณคัดลอกและแปะที่อยู่อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ หรือข้อความท่อนที่น่าสงสัยที่สุดไปที่โปรแกรมค้นหาข้อมูลออนไลน์เพื่อตรวจสอบว่าเคยมีผู้รายงานภัยเกี่ยวกับข้อความนี้แล้วหรือไม่

7. เพิ่มระดับชั้นของการรักษาความปลอดภัยบัญชีของคุณ

ยกระดับความปลอดภัยในโลกออนไลน์ขึ้นไปอีกขั้นด้วยการเพิ่มระบบการยืนยันตัวตนสองปัจจัย หรือที่เรียกว่าระบบการยืนยันตัวตนสองขั้นตอน ให้กับบัญชีของคุณ ระบบนี้จะช่วยเพิ่มระดับชั้นของการรักษาความปลอดภัยโดยการร้องขอให้มีการยืนยันตัวตนสองขั้นตอนก่อนที่จะสามารถเข้าถึงบัญชีของคุณได้ เช่น การถามถึงสิ่งที่คุณรู้ (รหัสผ่าน) และบางสื่งที่คุณมีอยู่ติดตัว (เช่น โทรศัพท์ หรือรหัสความปลอดภัย)

8. กดรายงาน

หากคุณพบเห็นสิ่งผิดปกติหรือพฤติกรรมที่น่าสงสัย กรุณารายงานไปที่ g.co/ReportPhishing หรือ g.co/ReportMalware

ที่มา : Google

CK

CK - นามแฝงจากเรื่องใกล้ตัว คอยแบ่งปันเรื่องไอทีผ่านตัวหนังสือที่จะทำให้คนอ่านเข้าใจง่าย ทั้งข่าว, รีวิวมือถือ หรือจะเป็น How to ก็อยากแชร์ให้ทุกคนได้สัมผัสว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวและไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจ ... ขอให้มีความสุขกับทุกบทความบนเว็บไซต์ 'ตามใจด็อทคอม' - www.tarmjai.com ครับ ^^

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *