รีวิว Redmi Note 13 Pro+ 5G สมาร์ทโฟนแรม 12GB ชาร์จแบตอย่างไว

Redmi Note 13 Pro+ 5G สมาร์ทโฟนแฟล็กชิปในตระกูล Redmi Note 13 Series แบรนด์ลูกของ Xiaomi ที่มาพร้อมจอโค้ง ใช้กระจกหน้าจอ Gorilla Glass Victus ที่มีความทนทาน ตัวเครื่องรองรับกันน้ำ กันฝุ่น มาตรฐาน IP68 มีจุดเด่นจากกล้องหลักความละเอียดสูงสุด 200MP เซ็นเซอร์ Samsung ISOCELL HP3 ใช้ชิป MediaTek Dimensity 7200-Ultra (รุ่นที่ได้มารีวิวมากับแรม 12GB พื้นที่เก็บข้อมูล 512GB) และยังมากับระบบชาร์จเร็ว 120W HyperCharge มีอะแดปเตอร์แถมมาให้ตั้งแต่ในกล่อง ไม่ต้องซื้อเพิ่ม

รีวิว Redmi Note 13 Pro+ 5G

การออกแบบ

Redmi Note 13 Pro+ สีขาวที่แอดมินได้รับมา ใช้ออกแบบที่เรียบหรู แต่มีการปรับเปลี่ยนวัสดุให้ดูพรีเมียมมากขึ้น ฝาหลังทำจากกระจก Gorilla Glass 5 และขอบด้านข้างทำจากอลูมิเนียม อย่างไรก็ตามดีไซน์ที่ Redmi ชูขึ้นมาอย่าง Fusion Design การแทรกลวดลายลงบนพื้นผิวฝาหลัง จะมีเฉพาะในสีม่วงเท่านั้น

ตัวเครื่องมีลำโพงด้านบนและด้านท้ายตัวเครื่อง, พอร์ต USB-C ไม่รองรับ microSD Card

หน้าจอแสดงผล

เป็นครั้งของสมาร์ทโฟนตระกูล Redmi Note ที่มาพร้อมจอโค้ง ส่วนขนาดหน้าจอ Redmi Note 13 Pro+ เป็นหน้าจอ AMOLED 6.67 นิ้ว ความละเอียด FHD+ มีความคมชัดสูงและสีสันที่ชัดเจน รองรับ HDR10+ ช่วยเพิ่มระดับของความสว่างและความแม่นยำในการแสดงสี ทำให้ภาพดูสมจริงและมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้นในขณะรับชมภาพยนตร์หรือดูซีรีส์ รองรับอัตรารีเฟรช 120Hz ช่วยให้การเลื่อนหน้าจอและการเล่นเกมลื่นไหล

ประสิทธิภาพ

Redmi Note 13 Pro+ ใช้ชิปเซ็ต MediaTek Dimensity 7200-Ultra ให้ประสบการณ์การใช้งานที่รวดเร็วและเสถียร สามารถใช้งานแอปทั่วไปได้ดี สลับแอปไปมาหลายๆ แอปไม่มีสะดุด รวมถึงเล่นเกมที่มีกราฟิกสูงโดยไม่มีปัญหา

ซอฟต์แวร์ที่ใช้มาพร้อม MIUI 14 บน Android 14 ซึ่งจากที่ใช้งานมาระยะหนึ่งก็มีความเสถียร User Interface ใช้งานง่าย การสลับแอปไปมาได้ทำลื่นไหล ส่วนข่าวคราวของการปรับเปลี่ยนระบบปฏิบัติการจาก Android ไปใช้ HyperOS ที่ Xiaomi พัฒนาขึ้นใช้เอง ต้องคอยติดตามว่าจะถูกอัปเดตให้ใช้กับ Redmi Note 13 Pro+ 5G หรือไม่ และหากรองรับการใช้งานร่วมกันจะมาให้ใช้จริงเมื่อไหร่ ?

แบตเตอรี่ขนาด 5000mAh และรองรับการชาร์จเร็ว 120W HyperCharge สามารถชาร์จแบตเตอรี่จาก 0% ถึง 100% ในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ลดเวลาที่ใช้ในการรอชาร์จ ทำให้สามารถนำสมาร์ทโฟนกลับใช้งานได้อีกครั้งอย่างรวดเร็ว

กล้อง

Redmi Note 13 Pro+ 5G มีกล้องหลัง 3 ตัว โดยจุดเด่นของกล้องหลัง คือ กล้องหลักที่ใช้เซ็นเซอร์ Samsung ISOCELL HP3 ขนาด 200MP รูรับแสง f/1.65 และกันสั่น OIS ซูมระดับ 2x ได้ หากถ่ายในโหมดปกติจะสามารถซูมระดับ 4x ได้โดยไม่สูญเสียความละเอียด และสามารถซูมได้ไกลสุด 10 เท่า ส่วนกล้องหลังอีกสองตัวเป็น Ultra-Wide 8MP และ macro 2MP

คุณภาพของภาพถ่าย แอดมินเลือกถ่ายในโหมดปกติเป็นส่วนใหญ่ มีทั้งภาพในสภาพแสงตอนเช้าถึงเย็นและตอนกลางคืน สัดส่วน 4:3 เริ่มกันที่ภาพในสภาพแสงตอนเช้าถึงเย็น ความชัดเจนทำได้ดี องค์ประกอบของสีภายในภาพไม่ได้เข้มหรือซีดเกินไปจากภาพจริงที่สายตาเรามองเห็น ค่อนให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติ หากเปิด AI ช่วยถ่ายภาพก็จะช่วยเพิ่มความเข้มของสีให้กับภาพยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงรักษาสมดุลของสีไม่ให้เข้มจนเกินไป

ตัวอย่างภาพ

ถัดมาเป็นการถ่ายภาพโหมดปกติตอนกลางคืนก็ยังถือว่า ภาพที่ถ่ายในระยะ 1x สีสันของแสงไฟในแต่ละจุดไม่ฟุ้ง สีไม่ซีดหรือเข้มจนเกินไป สมดุลของแสงและสีทำได้ค่อนข้างดี

ตัวอย่างภาพถ่าย

มากันที่การถ่ายภาพความละเอียด 200MP กันบ้าง สิ่งที่ Redmi พยายามยกขึ้นมาเป็นจุดขาย เมื่อนำภาพที่ถ่ายในโหมดปกติมาลองเทียบกับการถ่ายที่ความละเอียด 200MP รู้สึกว่าคุณภาพของภาพไม่ได้แตกต่างกันนัก จุดที่แตกต่าง คือ การถ่ายภาพในโหมดปกติสามารถเปิดหรือปิด AI ได้ มีการโฟกัสวัตถุได้ไวกว่า สามารถซูมได้ไกลสุด 10 เท่า ขณะที่การถ่ายภาพที่ความละเอียด 200MP ไม่สามารถใช้ร่วมกับ AI ได้ ซูมได้แค่ระยะ 2X และไฟล์ภาพจะใหญ่มาก อยู่ที่ 28.21MB หรือ 12240 x 16320px

มากันที่กล้อง Ultra-Wide 8MP สารภาพตามตรงว่าไม่ได้มีอะไรที่พิเศษมาก ความละเอียดค่อนข้างต่ำ ยิ่งถ่ายในเวลากลางคืนคุณภาพของภาพถ่ายไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เห็น noise (จุดบนภาพ) เยอะ

ตัวอย่างภาพถ่าย

บทสรุป รีวิว Redmi Note 13 Pro+ 5G

สิ่งที่ Redmi Note 13 Pro+ ทำได้ดียกให้เรื่องของหน้าจอการแสดงผล, ความลื่นไหลและเสถียรของการใช้งานที่เกิดจากองค์ประกอบต่างๆ ทั้งชิปเซ็ต MediaTek Dimensity 7200-Ultra, แรม 12GB (รุ่นที่ได้มารีวิว) และ MIUI อีกทั้งการชาร์จเร็ว 120W HyperCharge ที่ลดเวลาการรอชาร์จได้เยอะ ขณะที่กล้องหลังหากถ่ายด้วยโหมดปกติถือว่าทำได้ในระดับที่ค่อนข้างดี

ส่วนที่เป็นข้อจำกัด เช่น ไม่มีช่องใส่ microSD card, การถ่ายภาพในโหมด Ultra-Wide ที่ให้ความละเอียดมาต่ำ เพียง 8MP เท่านั้น ถ่ายภาพในสภาพแสงตอนเช้าถึงเย็นพอได้ แต่หากเป็นตอนกลางคืนจะเห็น noise (จุดบนภาพ) เยอะมาก ขณะที่การซูมแบบไม่เสียความละเอียดของภาพ อยู่ในระดับแค่ 4x และซูมได้ไกลสุดเพียง 10 เท่าเท่านั้น

การมีกล้องหลักความละเอียดสูงถึง 200MP จะมีประโยชน์มากน้อยเพียงใดเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความต้องการและการใช้งานของแต่ละบุคคล สำหรับบางคนที่มีความสนใจในการถ่ายภาพและนำภาพนั้นไปต่อยอดไปสร้างสรรค์ผลงาน กล้องหลักความละเอียดสูงอาจจะมีความสำคัญมาก เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดและมีรายละเอียดที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ใช้ที่เน้นเรื่องการสื่อสารและใช้งานทั่วไป กล้องหลักความละเอียดสูงถึง 200MP อาจจะไม่ใช่เรื่องที่จำเป็น หากใช้งานในการถ่ายภาพทั่วไป เน้นโพสต์ลงโซเชียล กล้องที่มีความละเอียดน้อยกว่าก็สามารถทำงานได้ดีเช่นกัน

CK

CK - นามแฝงจากเรื่องใกล้ตัว คอยแบ่งปันเรื่องไอทีผ่านตัวหนังสือที่จะทำให้คนอ่านเข้าใจง่าย ทั้งข่าว, รีวิวมือถือ หรือจะเป็น How to ก็อยากแชร์ให้ทุกคนได้สัมผัสว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวและไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจ ... ขอให้มีความสุขกับทุกบทความบนเว็บไซต์ 'ตามใจด็อทคอม' - www.tarmjai.com ครับ ^^

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *