เมื่อ Facebook เผชิญภัยข่าวลวง ปะปนกับเรื่องจริง แชร์ต่อง่าย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ Facebook กลายเป็นที่พื้นที่เพื่อการสื่อสารสาธารณะที่ไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพอะไร เป็นสื่อมวลชนแขนงใด ฯลฯ ก็สามารถใช้ Facebook บอกเล่าเรื่องราว ความคิด ผ่านตัวหนังสือ รูปภาพ และวีดีโอได้ ปัจจุบันหากนับแค่ในเมืองไทยมีผู้ใช้ Facebook อยู่เป็นจำนวนมาก และอย่างที่บอกครับว่าใครๆ ที่ใช้ Facebook ก็สามารถสร้างข้อมูลขึ้นมาเพื่อให้เพื่อนๆ ครอบครัว คนใกล้ตัว หรือคนอื่นๆ ได้รับรู้ได้อย่างอิสระ แม้ Facebook จะมีกฎและขอบเขตของการใช้งาน แต่จนแล้วจนรอดทุกวันนี้ข้อมูลบางอย่างที่สร้างขึ้นและปรากฏบน News Feed กลับเป็น “ข่าวลวง” ที่หลอกล่อให้ผู้ใช้บางรายหลงเชื่อ จนเกิดการแชร์และบอกต่อ ซึ่งบางครั้งรุนแรงถึงขึ้นสร้างความเชื่อหรือความคิดผิดๆ ให้บุคคลนั้นๆ ไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ข่าวลวง Facebook

สถานการณ์ข่าวลวงบน Facebook ในปัจจุบันค่อนข้างรุนแรง แพร่กระจายได้รวดเร็ว มีผลกระทบต่อข้อมูลจริงก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อน พร้อมทั้งสร้างความเชื่อให้กับผู้ใช้งานที่พบเจอกับข้อมูลลวง ดังเช่นเหตุการณ์ที่กำลังเป็นถกเถียงอย่างมากในสหรัฐฯ กับกรณีการชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการสร้างข่าวลวงบน Facebook เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนชาวสหรัฐฯ เทคะแนนให้กับทรัมป์ เดือดร้อนถึง Mark Zuckerberg ซีอีโอ Facebook ที่ต้องออกมาชี้แจงถึงการตั้งข้อสังเกตดังกล่าว พร้อมยอมรับว่ามีการปล่อยข่าวลวงเกิดขึ้น แต่เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตามบริษัทจะมีมาตรการที่แข็งแกร่งขึ้นเพื่อจัดการกับข่าวลวงทั้งหลายที่เกิดขึ้นบน Facebook

facebook-news-2
ภาพจาก dailydot

Mark Zuckerberg ซีอีโอ Facebook

สาเหตุของข่าวลวง ? คงเป็นเรื่องที่ระบุสาเหตุได้ไม่ชัดเจนนัก อาจเกิดขึ้นจะความต้องการส่วนบุคคลหรือกลุ่มคนที่ต้องการบิดเบือนความจริง ต้องการปลุกกระแสความเชื่อผิดๆ ให้กับผู้ใช้ Facebook  หรือต้องการโจมตีหน่วยงาน องค์กร บริษัทหรือตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้เสื่อมเสียชื่อเสียง แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ข่าวลวงเกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว นั่นคือ “การเข้าถึง” ไม่ว่าจะเป็นการพาดหัวหรือเนื้อหา หากมันสามารถตอบสนองต่อเรื่องราวที่ฝังอยู่ในความคิด ความเชื่อส่วนตัวที่อยู่ภายในจิตใจของผู้อ่านได้ ข่าวลวงดังกล่าวก็จะถูกตอบสนองด้วยการกดไลค์และแชร์ต่อในที่สุด โดยไม่มีการตรวจสอบหรือพิสูจน์แต่อย่างใด

ความร้ายกาจของข่าวลวงบน Facebook ในปัจจุบันยังอาศัยความแยบยลด้วยการสร้างแฟนเพจที่มีลักษณะคล้ายกับสำนักข่าวชื่อดัง อ้างว่าเป็นแฟนเพจของดาราคนนั่นคนนี้ หรืออื่นๆ อีกมากมาย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือจอมปลอม หวังให้ผู้ใช้ Facebook หลงเชื่อและเข้ามาปฏิสัมพันธ์ภายในแฟนเพจปลอมเพื่อหวังผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง แม้แฟนเพจปลอมจะถูกตรวจสอบ ร้องเรียน และถูกดำเนินคดีการตามกฏหมายจากแฟนเพจตัวจริง แต่ก็ต้องยอมรับว่ากรณีในลักษณะดังกล่าวยังมีให้เห็นบน Facebook เรื่อยๆ และยังมีผู้หลงติดกับดักข่าวลวงอยู่เสมอ !!

แล้วเพราะอะไรผู้ใช้ Facebook บางรายถึงยังติดกับดักข่าวลวงอยู่เสมอ ? เหตุผลหนึ่งคงต้องบอกว่าปริมาณข้อมูลมหาศาลที่หลั่งไหลอยู่บน News Feed มีผลต่อ “สมาธิ” ของผู้ใช้ ข้อมูลจำนวนมากที่เราเสพทุกวันนี้ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตามมีโอกาสเบี่ยงเบนความสนใจได้เสมอ ทั้งเรื่องเกี่ยวกับสังคม ความบาดหมาง ดราม่า การเมือง ซุบซิบดารา ยิ่งพาดหัวแรงยิ่งดึงดูด เรื่องบางเรื่องไม่มีที่มาที่มา แต่กลับเรียกความสนใจได้จากผู้ใช้ Facebook บางรายได้อย่างไม่น่าเชื่อ

facebook-news-3

ข่าวลวงที่ยังเกิดขึ้นบน Facebook ไม่ต้องมองไปไกลถึงสหรัฐฯ หรอกครับ มองที่เมืองไทยก็จะเห็นว่าพวกเว็บข่าวหลอก ลิ้งค์ลวง รวมถึงพวก Clickbait พาดหัวข่าวซะดูแรง แต่คลิกไปกลับไม่มีรายละเอียดใดๆ อย่างที่พาดหัวเลยแม้แต่น้อย สิ่งเหล่ายังมีให้เห็นอยู่ร่ำไป ในเมื่อ Facebook ยังไม่สามารถขจัดเข่าวลวงที่ปะปนอยู่ข่าวจริงได้ สิ่งที่ผู้ใช้ Facebook สามารถทำได้ อย่างแรกเลยควรมีสมาธิให้มากขึ้น ดูก่อนว่าลิงค์ที่เกิดการแชร์ต่อๆ กันมาเรารู้จักหรือเปล่า หากเห็นหัวข้อข่าวน่าสนใจแต่ไม่มั่นใจว่าเป็นข่าวจริงหรือมั่ว ให้ใช้ Google แล้วพิมพ์หัวข้อข่าวนั้น เพื่อตรวจเช็คว่าข่าวดังกล่าวมีสื่อใหญ่รายใดโพสต์เรื่องที่คล้ายกันบ้าง แม้จะดูยุ่งยาก แต่ก็เป็นทางหนึ่งที่ทำให้รู้ว่าข่าวจริงหรือมั่วกันแน่ !!

CK

CK - นามแฝงจากเรื่องใกล้ตัว คอยแบ่งปันเรื่องไอทีผ่านตัวหนังสือที่จะทำให้คนอ่านเข้าใจง่าย ทั้งข่าว, รีวิวมือถือ หรือจะเป็น How to ก็อยากแชร์ให้ทุกคนได้สัมผัสว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวและไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจ ... ขอให้มีความสุขกับทุกบทความบนเว็บไซต์ 'ตามใจด็อทคอม' - www.tarmjai.com ครับ ^^

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *